แม้ว่าปีที่ผ่านมาจะมีมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (พ.ร.ก. Soft Loan) ออกมาช่วยผู้ประกอบการในวิกฤตโควิด-19 แต่จากเกณฑ์และข้อจำกัดต่างๆ ทำให้คนยังไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อดังกล่าวได้มากนัก ที่สำคัญประกาศ Soft Loan นั้นกำลังจะสิ้นสุดในวันที่ 19 เมษายนนี้ ล่าสุด ทั้ง แบงก์ชาติ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงส่งมาตรการใหม่เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ และผ่านการเห็นชอบจาก ครม. แล้ว 

เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยปี 2564 แม้จะทยอยฟื้นตัวขึ้นจากปีก่อน แต่กว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวเท่าก่อนโควิด-19 ยังต้องใช้เวลาอีก 2-3 ปี ขณะที่การฟื้นตัวของแต่ละเซกเตอร์ยังไม่เท่ากัน โดย พ.ร.ก. Soft Loan ที่ออกมาเมื่อปีก่อน ยังไม่เพียงพอกับสถานการณ์ที่ยาวนานกว่าที่คาดไว้ 

“ธปท. และกระทรวงการคลัง จึงเห็นความจำเป็นเร่งด่วนในการออกมาตรการทางการเงินเพิ่มเติม โดยคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบต่อร่างมาตรการให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (มาตรการฟื้นฟูฯ) วงเงินรวม 350,000 ล้านบาท”

แบงก์ชาติ ออก 2 มาตรการใหม่ โกดังพักหนี้-สินเชื่อฟื้นฟู

ทั้งนี้ จากวงเงิน 350,000 ล้านบาท จะมีระยะเวลาเบิกเงินกู้ 2 ปีนับตั้งแต่วันที่กฎหมายจะมีผลบังคับใช้ และขยายต่ออายุได้อีก 1 ปี หากมีเหตุจำเป็น โดย แบงก์ชาติ แบ่งออกเป็น 2 มาตรการ ได้แก่

1. มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ (สินเชื่อฟื้นฟู) วงเงิน 250,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือ SMEs ในวิกฤตให้มีสภาพคล่อง โดยปรับเกณฑ์ใน 4 ด้าน

  • ขยายขอบเขตถึงลูกหนี้และวงเงิน ให้ลูกหนี้ที่ไม่เคยเป็นลูกหนี้สถาบันการเงินสามารถขอสินเชื่อวงเงินไม่เกิน 20 ล้านบาทต่อราย ส่วนลูกหนี้เดิมจะสามารถกู้ได้ไม่เกิน 500 ล้านบาท 
  • ขยายระยะเวลาผ่อนเป็น 5 ปี (จาก Soft Loan มีระยะเวลา 2 ปี) 
  • กำหนดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 5% ที่เอื้อต่อการปล่อยกู้ 
  • ขยายการชดเชยอยู่ที่ 40% ของพอร์ตสินเชื่อ (ค่าธรรมเนียมการค้ำประกันเฉลี่ยที่ 1.75% โดยรัฐชดเชยรวม 3.5% ผ่านกลไก บสย.) 

2. มาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์ชำระหนี้และให้สิทธิลูกหนี้ซื้อคืน (โครงการพักทรัพย์ พักหนี้) หรือโครงการโกดังพักหนี้ วงเงิน 100,000 ล้านบาท

  •  จุดเด่นคือลูกหนี้เมื่อโอนทรัพย์ชำระหนี้จะลดภาระหนี้ของลูกหนี้ลง โดยมีค่าใช้จ่ายหลักให้แก่ธนาคารเจ้าหนี้คือ ต้นทุนการถือครองทรัพย์ (Carrying Cost) ไม่เกิน 1% ต่อปีของราคาตีโอนทรัพย์ (ในส่วนนี้ ธปท. จะให้กู้สภาพคล่องแก่ธนาคารฯ ในอัตราดอกเบี้ย 0.01%) 
  • ลูกหนี้มีสิทธิในการเช่าและซื้อทรัพย์คืนใน 5 ปี (ในราคาเดียวกับที่ตีโอนทรัพย์ชำระหนี้มา) เป็นลำดับแรก 
  • ลูกหนี้สามารถเช่าทรัพย์เพื่อทำธุรกิจได้ โดยค่าเช่าที่จ่ายระหว่างนี้จะนำไปลดราคาทรัพย์ในวันที่ลูกหนี้จะซื้อคืน (เช่น เมื่อตีโอนทรัพย์มาที่ 10 ล้านบาท หากจ่ายค่าเช่าปีละ 5 แสนบาท เมื่อครบ 5 ปี (2.5 ล้านบาท) หากลูกหนี้ต้องการซื้อคืน จะต้องซื้อทรัพย์กลับในราคา 7.5 ล้านบาท)

เบื้องต้นคาดว่าทั้ง 2 มาตรการนี้จะเริ่มเปิดให้ใช้งานได้ในช่วงพฤษภาคมนี้


สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ทาง ธปท. คาดว่า จะมีผู้เข้ามาใช้งานทั้ง 2 มาตรการในหลักแสนล้านบาท หากมีผู้สนใจเข้าร่วมมาตรการใดมาตรการหนึ่งเกินกว่าวงเงินที่วางไว้ อาจจะมีการปรับวงเงินไปเพิ่มเติมในส่วนที่มีความต้องการ

ทั้งนี้ ทาง ธปท. ร่วมกับภาครัฐ​สถาบันการเงินในฐานะเจ้าหนี้และสมาคมต่างๆ ในการออกแบบมาตรการนี้ ขณะที่ 2 มาตรการดังกล่าวผ่านความเห็นชอบ ครม. แล้ว และอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมกฤษฎีกา

สุดท้ายน้ีมองว่า มาตรการพักหนี้พักทรัพย์ยังมีข้อดีที่ช่วยลดโอกาสที่ผู้ประกอบธุรกิจจะไม่ถูกกดราคาบังคับขายทรัพย์ (Fire Sale) 

ด้าน กุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ทางกระทรวงการคลังจะยกเว้นค่าธรรมเนียมและภาษีที่เกี่ยวเนื่องกับมาตรการพักหนี้พักทรัพย์ เช่น ค่าธรรมเนียมจำนองอสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ

ในส่วนของเม็ดเงินช่วยเหลือประชาชนจากโควิด-19 ที่ผ่านมาทั้งหมด คาดว่า จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยราว 0.8% ของ GDP โดยมองว่า ปี 2564 คาดว่า GDP จะโตที่ 2.8%