Kakeibo “คะเคโบะ” เคล็ด (ไม่) ลับในการออมเงินแบบญี่ปุ่น การแบ่งรายรับส่วนหนึ่งไปกับการออมเงินน่าจะเป็นสิ่งที่เราได้ยินและคุ้นเคยกันมาตั้งแต่เด็กแล้ว แต่พอโตขึ้น รายจ่ายเพิ่มขึ้น เราก็อาจจะหลงลืมการออมเงินกันไปบ้าง วิธีเก็บออมเงินที่เราจะมาแนะนำในวันนี้เป็นวิธีของประเทศญี่ปุ่นแต่แพร่หลายในฝั่งยุโรปสุดๆ เพราะช่วยให้การออมเงินมีประสิทธิภาพ และเห็นผลจริง ซึ่งวิธีการทำตามก็ง่ายมากๆ ด้วย เตรียมแค่สมุด 1 เล่ม กับปากกา 1 ด้าม หรือถ้าใครที่ถนัดใช้สมาร์ทโฟนมากกว่าก็เปิดแอปพลิเคชั่นจัดการการเงินแล้วลองทำตามกันได้เลย
Kakeibo คืออะไร? วิธีการ?
คำว่า คะเคโบะ มาจากภาษาญี่ปุ่นแปลว่า สมุดบัญชีครัวเรือน คะเคโบะ ถูกคิดค้นขึ้นครั้งแรกในปี 1904 โดยฮานิ โมโตะโกะ ที่ต้องการหาวิธีการออมเงินและจัดการงบประมาณรายรับรายจ่ายให้ครอบครัวได้ดียิ่งขึ้น หลักการของคะเคโบะ ไม่ยาก แต่ต้องอาศัยความสม่ำเสมอและความพยายามในช่วงแรก เริ่มต้นด้วยการจดบันทึกรายรับรายจ่ายแบบรายวัน และรายสัปดาห์ หรืออาจจะเปลี่ยนไปใช้แอปพลิเคชั่นจัดการแทนก็ได้ โดยให้แบ่งการบันทึกเป็นหมวดหมู่ต่างๆ เช่น ค่าใช้จ่ายที่จำเป็น (ค่าเดินทาง, ค่าเช่าบ้าน, ค่าน้ำค่าไฟ, ค่าอาหาร) รายจ่ายเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ และรายจ่ายพิเศษอื่นๆ เป็นต้น ยิ่งบันทึกรายรับรายจ่ายละเอียดมากเท่าไร ก็จะช่วยให้เราคำนวนเงินคงเหลือช่วงสิ้นเดือนได้ดี
ก่อนจะเริ่มเดือนใหม่ให้ตั้งเป้าหมายการออมเงินและวิธีที่จะออมเงินให้ได้ตามเป้าหมาย โดยตอบคำถามเหล่านี้
- มีเงินเข้ามาเท่าไหร่ บันทึกรายได้จากทุกแหล่ง
- ต้องใช้เงินเท่าไหร่ บันทึกค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต้องจ่ายทุกเดือน เช่น ค่าเช่า
- มีเงินเหลือเท่าไหร่
- อยากออมเงินเท่าไหร่ในเดือนนี้ ให้ตั้งตัวเลขที่เป็นจริงได้ แต่ไม่ง่ายเกินไป
- ควรใช้เงินเท่าไหร่
ในระหว่างเดือน ให้บันทึกค่าใช้จ่ายลงหมวดหมู่ต่างๆ เพื่อให้เห็นรูปแบบการใช้จ่ายของตนเองชัดเจนขึ้น รวมทั้งให้ทบทวนแผน และหาวิธีปรับปรุงการใช้เงิน เพื่อให้มั่นใจว่าเราจะถึงเป้าหมาย
Tips สำหรับการทำ คะเคโบะ และออมเงินอย่างมีประสิทธิภาพ
1.จดบันทึกอย่างต่อเนื่อง
2.จดให้ง่าย ไม่ต้องละเอียดยิบทุกรายการ
3.เก็บใบเสร็จทุกอย่าง ไม่มีก็จดโน๊ตไว้
4.เลือกออมในบัญชีที่ให้ดอกเบี้ยสูง
5.ตั้งเป้าหมายการออมให้ชัดเจน
ปรัชญาของ ‘Kakeibo’
สิ่งสำคัญและกลายเป็นข้อแตกจากการออมเงินด้วยวิธีอื่น คือ ปรัชญาของคะเคโบะเราต้องตอบคำถามแต่ละข้อก่อนซื้อของทุกครั้ง โดยแต่ละคำถามจะเน้นให้เราได้พูดคุยกับตัวเองทุกครั้งก่อนซื้อของสักชิ้นว่า เราซื้อสิ่งนี้เพราะจำเป็น หรือซื้อเพียงเพราะอยากได้กันแน่
- คุณสามารถอยู่ได้โดยไม่มีของชิ้นนี้ได้ไหม?
- สถานการณ์ทางการเงินของคุณตอนนี้ ซื้อของชิ้นนี้ได้หรือไม่?
- คุณจะใช้สินค้าชิ้นนี้จริงๆ เหรอ?
- บ้านคุณมีพื้นที่พอสำหรับมันรึเปล่า?
- คุณเจอสินค้าชิ้นนี้ได้อย่างไร? (คุณเคยเห็นมันตามแม็กกาซีน หรือเข้าไปพบโดยบังเอิญในช่วงเวลาที่กำลังเดินเบื่อๆ ในห้าง)
- อารมณ์ของคุณในวันนี้เป็นแบบไหน? (ใจเย็น มีความเครียด อยู่ในช่วงเทศกาล หรือกำลังรู้สึกไม่ดีกับตัวเอง)
- คุณรู้สึกอย่างไรเมื่อซื้อมาแล้ว? (มีความสุข ตื่นเต้น เฉยเฉย)
ตัวอย่าง จากเว็บไซต์ของไปรษณีย์ญี่ปุ่น
ตัวอย่าง
Recent Comments