วันนี้เราจะพาไปดูความแตกต่างของ ” เงินเฟ้อ ” ว่ามีลักษณะอย่างไร มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจอย่างไร ที่สำคัญที่สุดคือสภาวะนี้ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต หรือเงินในกระเป๋าของประชาชนทั่วไปอย่างเราๆ อย่างไรบ้าง
” เงินเฟ้อ ” คืออะไร
เงินเฟ้อ (Inflation) หรือภาวะเงินเฟ้อ หมายถึง ภาวะที่ราคาสินค้าและบริการโดยทั่วไปเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยเงินหนึ่งหน่วย สามารถซื้อสินค้าและบริการได้น้อยลง ซึ่งหากเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นมากจะกระทบต่อฐานะและความเป็นอยู่ของประชาชน
สรุปแบบง่ายๆ เลยคือ เมื่อก่อนมีเงิน 40 บาท ตอนเด็กๆก็ซื้อก๋วยเตี๋ยวได้ตั้ง 4 ชาม
แต่ตอนนี้ราคาก๋วยเตี๋ยวได้ขยับราคาขึ้น เป็นชามละ 40 บาท
สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ หลักๆ ได้แก่
1. ประชาชนต้องการซื้อสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น (เรียกว่า Demand–Pull Inflation) ประกอบกับสินค้าและบริการนั้นๆ ในตลาดไม่เพียงพอ ทำให้ผู้ขายปรับราคาสินค้าและบริการสูงขึ้น
2. ต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น (เรียกว่า Cost–Push Inflation) กล่าวคือ หากผู้ผลิตไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนที่สูงขึ้นได้ จะทำให้ผู้ผลิตต้องปรับราคาสินค้าและบริการให้สูงขึ้นด้วย
ผลกระทบของเงินเฟ้อ ในมิติต่างๆ
- ผลต่อประชาชน
– รายจ่ายหรือภาระค่าครองชีพสูงขึ้น ทําให้ประชาชนมีอํานาจซื้อน้อยลง และมีความสามารถจับจ่ายซื้อสินค้าหรือบริการได้น้อยลง ซึ่งอาจทําให้รายได้ที่มีหรือเงินที่หามาได้ไม่เพียงพอกับการยังชีพ
– อัตราเงินเฟ้อยิ่งสูงจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยที่หักเงินเฟ้อออก หรือที่เรียกว่าอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงจะมีค่าลดลงไปด้วย เนื่องจากดอกเบี้ยที่เราได้รับเอาไปใช้ซื้อของได้น้อยลง ยกตัวอย่าง กรณีที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ที่ 1.5% ต่อปี แต่หากอัตราเงินเฟ้อหรือราคาเพิ่มขึ้นมา 1% อาจกล่าวได้ว่าอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงหรือผลตอบแทนสุทธิที่ได้รับจริงๆ อยู่ที่ 0.5% ต่อปีเท่านั้น
แต่หากปีต่อไปอัตราดอกเบี้ยเงินฝากยังเท่าเดิม แต่อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นไปอยู่ที่ 2% อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงจะกลายเป็น 0.5% ต่อปี ซึ่งถือว่ากําลังซื้อของผู้ฝากเงินลดลง การฝากเงินทําให้ได้รับผลตอบแทนจริงๆ ติดลบ
ทําให้ผู้ฝากไม่อยากออมเงิน และอาจหันไปลงทุนในสินทรัพย์ประเภทอื่นที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า เช่น ทองคํา อสังหาริมทรัพย์ และหุ้น เป็นต้น ซึ่งก็จะต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่สูงขึ้นด้วย หากไม่มีความรู้เพียงพอในการบริหารจัดการ ก็อาจทําให้เกิดเป็น ภาระหนี้สินได้
- ผลต่อผู้ประกอบการ / นักธุรกิจ
– เมื่อสินค้ามีราคาแพงขึ้น ยอดขายก็จะลดลง ในขณะเดียวกันต้นทุนการผลิตก็จะสูงขึ้นด้วย ส่งผลให้เจ้าของธุรกิจบางรายอาจตัดสินใจชะลอการผลิต ลดการลงทุนและการจ้างงาน ทําให้มีคนตกงานมากขึ้น
– ความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจในประเทศลดลง เนื่องจากราคาสินค้าส่งออกของเราจะสูงขึ้นเมื่อเทียบกับราคาสินค้าออกของประเทศอื่นๆ
- ผลต่อประเทศ
– ในภาวะที่ประชาชนซื้อของน้อยลง ธุรกิจไม่สามารถขายของได้ การลงทุนเพื่อผลิตสินค้าก็จะชะลอออกไป ทําให้การพัฒนาศักยภาพการผลิตของประเทศในระยะยาวอาจชะลอลงตามไปด้วย
– ถ้าอัตราเงินเฟ้อสูงจนทําให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงติดลบนานๆ ประชาชนก็จะหันไปเก็งกําไรในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง สะสมปัญหาฟองสบู่ในสินทรัพย์ต่างๆ (asset price bubble) และความไม่สมดุลในภาคการเงินของประเทศได้ เช่น หนี้ครัวเรือน
Recent Comments