หลังจากหุ้นขวัญใจมหาชนอย่าง บมจ. ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก (OR) ได้เสนอขายหุ้นให้ประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยไปเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2564
ล่าสุด OR ได้ปิดสมุดทะเบียนพักการโอนหุ้นเพื่อเตรียมจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้น ซึ่งปรากฏว่า รายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่ ‘อันดับ 2’ ไม่ใช่นักลงทุนสถาบันจากที่ไหน แต่เป็นนักลงทุนบุคคลธรรมดาที่มีชื่อ ‘ เซียนฮง สถาพร งามเรืองพงศ์

โดย สถาพร งามเรืองพงศ์ มีรายชื่อเป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 2 ของ OR ถือหุ้นรวม 244,298,900 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 2.04% หรือคิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 7,756.49 ล้านบาท คำนวณจากราคาปิดของหุ้น OR ณ วันที่ 22 มีนาคม 2564 ซึ่งอยู่ที่ 31.75 บาท 

นอกจากนี้ ยังพบว่ามีหญิงนามสกุลเดียวกันกับนายสถาพร ถือครองหุ้น OR มากเป็นอันดับ 10

เซียนฮง ผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 2 ของ OR

โดยจำนวนหุ้นที่สถาพรถืออยู่ ณ ปัจจุบัน ยังเป็นระดับที่สูงกว่าของ GIC Private ซึ่งเป็นกองทุนระดับโลกจากสิงคโปร์ที่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 3 ของ OR ถืออยู่ราวๆ 215 ล้านหุ้น คิดเป็น 1.79%

มาถึงจุดนี้อาจมีคำถามว่า สถาพร งามเรืองพงศ์ เป็นใคร ทำไมจึงอาจหาญทุ่มเงินกว่า 7 พันล้านบาท เข้าซื้อหุ้น OR จนขึ้นเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 2 แซงหน้ากองทุนระดับโลกอย่าง GIC Private

ทำความรู้จัก “ เซียนฮง ” หรือ สถาพร งามเรืองพงศ์ ผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 2 ของ OR

สำหรับ นายสถาพร งามเรืองพงศ์ นั้น ไม่ใช่นักธุรกิจหรือลูกมหาเศรษฐีนามสกุลดัง ทว่าเป็นหนุ่มวัย 30 ที่นักเล่นหุ้นรู้จักกันดีในชื่อ “เซียนฮง” หรือ “เซียนหุ้นอัจฉริยะ” เริ่มเข้าสู่ตลาดหุ้นเมื่อช่วงปี 2547 ด้วยเงิน 100,000 บาท ระหว่างยังเป็นนักศึกษาปี 1 มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

หลังจากโด่งดังในวงการหุ้น จากการเขียนบล็อก บทความ และให้สัมภาษณ์ตามเว็บไซต์ต่าง ๆ ช่วงปี 2554-2555 เจ้าตัวก็หายหน้าหายตาไปเฉย ๆ ต่อมาจึงให้สัมภาษณ์ภายหลังว่า “ไปเที่ยวรอบโลก” เพื่อออกจากการลงทุนไปใช้ชีวิต

“ผมเชื่อว่าหลักการที่เคยให้สัมภาษณ์ไป มันใช้ได้ตลอด และไม่อยากให้คนดูเบื่อ” นายสถาพรกล่าวถึงเหตุผลที่ห่างหายไป

ต่อมา ปี 2556 เขาทยอยซื้อหุ้น บมจ.บัตรกรุงไทย หรือ KTC  จากนั้นในปี 2562 เขาได้กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 4 ใน KTC ก่อนที่ 1 ปีต่อมา คือปี 2563 จะขยับขึ้นมาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 3 ของ KTC ก่อนทยอยขาย

ปัจจุบัน เซียนฮงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน 6 บริษัท ได้แก่ OR, KISS, MICRO, NOBLE, IVL และ SINGER รวมมูลค่า ณ ราคาปิดวันที่ 22 มีนาคม 2564 ที่ 11,508 ล้านบาท

สุดท้าย “มีไฟ” เซียนฮงบอกว่า เมื่อฟังเขาพูด เราจะสัมผัสได้เองว่า ใครมีไฟหรือไม่มีไฟ

“ผมได้ฟังผู้บริหารหลายบริษัท พบว่าเป็นคนมีไฟ ซื่อสัตย์ แต่ไม่ฉลาด เช่น เวลาที่เขาล้มโครงการนี้จะหาโครงการใหม่ แต่กลับเป็นโครงการที่ไม่ก่อกำไรเพิ่ม ซึ่งเขาก็ไม่ได้ทำผิดกฎตลาด แต่ความคิดเขายังไม่คมพอที่จะสร้าง value add ให้บริษัท เพราะฉะนั้น ผู้บริหารที่มีคุณสมบัติครบ 3 อย่าง ใน ตลท.มีไม่มาก”

สถาพรหรือเซียนฮง ยังพูดถึงหุ้นที่เขาจะไม่ยุ่งเลยคือ กลุ่มพืชผลทางการเกษตร เนื่องจากปัจจัยด้านสภาพอากาศ ที่ไม่สามารถควบคุมได้ รวมถึงบริษัทที่คุมความเสี่ยงไม่ได้ หรือถูกเทคโนโลยีดิสรัปต์

ตอนท้ายเขาให้แง่คิดที่น่าสนใจว่า

“เมื่อก่อนเวลาผมขยัน ผมจะนั่งอ่านหุ้นวันละ 8-9 ชั่วโมง แต่หลัง ๆ ผมจะดูว่าเราควรจะลงแรงกับอะไรที่คุ้มค่า”